วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ช้าง / Chang: A Dreama of the Wilderness (1927)






ช้าง / Chang: A Dreama of the Wilderness (1927)
บทภาพยนตร์...Achmed Abdullah /ดนตรีประกอบ...Hogo Liesenfeld / ถ่ายภาพ...Ernest B. Schoedsack / อำนวยการสร้าง...Marian C. Cooper&Ernest B. Schoedsack / ผู้กำกับภาพยนตร์... Marian C. Cooper&Ernest B. Schoedsack
ดารานำแสดง...Kru-Chantui-Nah-Ladah-Bimbo
                  แม้จะออกตามล่าฆ่าตายไปก็หลายตัวแล้วแต่เสือก็ยังไม่หยุดอาละวาด  ครูจึงขุดหลุมวางกับดักเสือที่จะมากินวัวกินควายที่เลี้ยงไว้ผลก็คือเป็นลูกช้างที่มาติดกับดักครูจึงนำลูกช้างนั้นมาผูกไว้ใต้ถุนเรือนของตน ภายหลังแม่ช้างก็พาช้างทั้งโขลงมาทำลายบ้านของครูเพื่อชิงเอาลูกกลับคืนไป  ครูพาภรรยาคือจันตุ้ย ลูกชายลูกสาวและเจ้าลิงบิมโบหนีเข้าไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในหมู่บ้านแต่ไม่ทันการแม่ช้างขี้โมโหก็พาโขลงช้างบุกเข้าทำลายหมู่บ้านจนเสียหายไปทั่ว   ชาวบ้านจึงมาประชุมกันเพื่อหาทางที่จะควบคุมช้างให้ได้ พวกเขาจึงสร้างเพนียดคล้องช้างขึ้นมาจากนั้นก็พากันไล่ต้อนช้างเข้าเพนียดแล้วคล้องช้างเอาไปฝึกใช้งานในโอกาสต่อมา  

ครอบครัวของนายครู กับ สองผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ช้าง
                  ช้าง หรือ Chang: A Drama of the Wilderness เป็นภาพยนตร์กึ่งสารคดี เรื่องแรกๆที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย(สยาม) โดยบริษัท พาราเมาท์ เมื่อ พ.ศ. 2468 ใช้เวลาถ่ายทำนานถึงหนึ่งปีครึ่ง ที่จังหวัดน่าน แพร่ พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี ชุมพร สิ้นเงินประมาณ 2 แสนบาทไทยขณะนั้นโดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการพระบิดาของมจ.ชาตรีเฉลิม ยุคลร่วมงานสร้าง
                  ภาพยนตร์เรื่องช้าง เป็นภาพยนตร์ขาว-ดำและเป็นภาพยนตร์เงียบ(ใบ้) มีคำบรรยายคั่นเป็นช่วงๆ ถ่ายทำแล้วเสร็จออกฉายเมื่อพ.ศ. 2470 ที่สหรัฐอเมริกาก็ได้รับความสนใจเป็นอันมากได้รับการเสนอชื่อเข้าประกวดรางวัลออสการ์ครั้งที่ 1 ประจำปีค.ศ. 1927 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม  แต่ในประเทศสยามตอนที่ภาพยนตร์เรื่องช้างออกฉายนั้นคนสยามได้สร้างหนังเพื่อความบันเทิงได้เองและนำออกฉายดูกันไปแล้วหลายเรื่องผู้คนจึงไม่ค่อยตื่นเต้นกับภาพยนตร์เรื่องช้างกันมากเท่าที่ควร   หลายสิบปีผ่านมามีอยู่ช่วงหนึ่งที่คุณบรู๊ซ แก๊สตันไปซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วทำดนตรีประกอบใหม่เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงคอนเสิร์ตของวงดนตรี ฟองน้ำ

                   ภาพยนตร์เรื่องช้าง เปิดมุมมองให้เห็นความพยายามเอาชนะพลังธรรมชาติของมนุษย์ เป็นวัฒนธรรมทางตะวันตกที่มีค่านิยมที่จะสะสม ครอบครองสิ่งต่างๆเอาไว้ให้ได้แม้ว่าก่อนจะได้มาครอบครองพวกเขาต้องทำลายธรรมชาติไปมากมายเท่าไรก็ตาม  การแสดงของสัตว์ต่างๆในภาพยนตร์เรื่องช้างนี้เป็นการแสดงที่ออกมาเองตามสัญชาตญาณของสัตว์ไม่มีใครไปอบรมสั่งสอนเอาไว้

โขลงช้างหลายร้อยเชือกบุกเข้าทำลายหมู่บ้าน
                    ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งชื่อว่า Chang ทับศัพท์ภาษาไทยแทนที่จะใช้คำว่า Elephant ที่แปลว่าช้างอาจเป็นเพราะว่ามาถ่ายทำในประเทศไทย(สยาม) ประเทศที่มีภาษาเป็นของตัวเองจึงอยากนำเสนอคำแปลกๆเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนสนใจอยากชมภาพยนตร์มากกว่าการให้เกียรติทางวัฒนธรรมเพราะในสมัยนั้นใครจะคิดถึง  สำหรับผู้กำกับภาพยนตร์แมเรียน ซี. คูเปอร์และช่างภาพ เออร์เนสต์ บี. สโคแซคต่อมาได้ร่วมงานกันอีกในการสร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกคือเรื่อง คิงคอง (1933)
                   เมื่อพูดถึงช้างก็อดเป็นห่วงช้างไทยของเราไม่ได้ ในปัจจุบัน(พ.ศ.2553)สัตว์ใหญ่คู่บ้านคู่เมืองของไทยเราชนิดนี้ล้มลงกว่า 150 เชือกต่อปี  เห็นได้ชัดว่าอีกไม่นานช้างไทยจะต้องสูญพันธ์ลงอย่างแน่นอน  ขอวอนคนไทยเราอย่านิ่งดูดายกันอยู่เลย ใครหรือหน่วยงานใดมีโครงการณ์อะไรดีดีที่จะช่วยให้ช้างไทยยังคงอยู่รอดได้ก็ให้รีบดำเนินการกันเสีย ก่อนจะเลยห้าโมงเช้า สายเกินไป
                  เมื่อช้างไทยตัวเป็นๆสูญพันธ์หมดไปแล้ว คนไทยจะมีอะไรเหลือไว้ให้เด็กรุ่นหลังภูมิใจในความเป็นไทย เหลือแต่เบียร์ช้างไว้ให้เด็กดู เด็กคงมีอาการ...งึกงึกงักงักมันเป็นงึกงึกงักงัก มันเป็นบ่คึกบ่คัก...จังซี่มันต้องถอน จังซี่มันต้องถอน...หัวทิ่มบ่อไปตามตามกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น